อ้างอิงมาจากหนังสือเวียน เรื่อง การจัดทำผลงานเพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการ ของกองทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยมหิดล ลงวันที่ 29 เมษายน 2554 ที่คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ ได้สรุปเนื้อหามาจากการประชุมสัมมนาเรื่อง “อย่างไรจึงจะไม่ถูกกล่าวหาว่า ลอกเลียนผลงานทางวิชาการ” ซึ่ง สกอ. จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2554 ความว่า
- การนำความรู้และข้อมูลของผู้อื่นมาใช้อย่างถูกต้อง คือ ต้องมีการอ้างอิงแหล่งที่มา เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ผู้สร้างองค์ความรู้ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันตนเองหากว่าบทความที่นำมานั้นไม่ถูกต้อง และผู้นำองค์ความรู้นั้นไปใช้ ควรเขียนบรรยายองค์ความรู้นั้นด้วยลีลาและโวหารของตนเอง
- การแปลจากภาษาต่างประเทศ กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองผู้เขียนบทความดั้งเดิมไว้ ดังนั้นจึงไม่สามารถแปลประโยคต่อประโยค โดยไม่ขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อนได้ ถ้าในกรณีต้องการนำความรู้จากบทความต่างประเทศมาใช้ ต้องเรียบเรียงและนำเสนอองค์ความรู้นั้นด้วยลีลาและโวหารของตนเอง รวมทั้งอ้างอิงแหล่งที่มาขององค์ความรู้นั้นด้วย
- การทำผลงานทางวิชาการ คือการทำผลงานให้เกิดสิ่งใหม่ ถึงแม้คนเรามีความคิดที่คล้ายกัน แต่ภาษาที่ใช้ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ควรทำความเข้าใจและเรียบเรียงใหม่โดยใช้ภาษาของเราเอง แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าความคิดหรือคำพูดที่ใช้ จะเป็นสิ่งที่เราคิดเองหรือไม่ ให้อ้างอิงไว้ก่อน
- การนำภาษาอื่น คำแปล รูปภาพ แผนภูมิ ตาราง สุนทรพจน์ สำนวน มาใช้ ต้องอ้างอิงแหล่งที่มาทุกครั้ง แม้ว่าเป็นของตนเอง
- ผลงานที่เนื้อหาไม่เหมือนกัน แต่รูปภาพที่ปรากฎเหมือนกัน ถือว่าลอกเลียน
- ผลงานชื่อเรื่องและเนื้อหาเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนตัวเลขในกลุ่มตัวอย่าง ถือว่าลอกเลียน
- งานวิจัยเรื่องเดียวกัน แต่นำไปตีพิมพ์เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษในวารสารต่างกัน ต้องมีการแจ้ง ว่าจะมีการตีพิมพ์ในวารสารอีกฉบับ ทั้งนี้ถ้าตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษแล้วจะตีพิมพ์เป็นภาษาไทยอีก สามารถทำได้โดยขออนุญาตจากสำนักพิมพ์ก่อน พร้อมทั้งระบุให้ชัดเจนว่า งานชิ้นนี้ได้เคยตีพิมพ์แล้วเป็นภาษาอะไร ในวารสารใด
- การวิจัยที่ได้รับทุนจากหน่วยงานหนึ่ง ระหว่างทำวิจัยใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวนหนึ่ง และงานวิจัยนั้นยังไม่เสร็จสิ้น ไปขอทุนที่หน่วยงานใหม่ และมีกลุ่มตัวอย่างเพิ่มขึ้นจากเดิม เมื่อได้ผลวิจัยแล้ว นำไปตีพิมพ์ในวารสาร แต่ไม่ได้อ้างอิงแหล่งที่มาของกลุ่มตัวอย่างแรก เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
- บทลงโทษตามประกาศ ก.พ.อ.(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ไม่ได้ครอบคลุมถึงการคัดลอกผลงานของตนเอง รวมทั้งไม่นำผลงานของตนเองในเรื่องเกียวกัน ไม่เผยแพร่ในวารสารมากกว่าหนึ่งฉบับ ในลักษณะที่จะทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นผลงานใหม่ (ซึ่ง ส.ก.อ.จะนำไปพิจารณาและหาแนวทางดำเนินการต่อไป)
เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยง Plagiarism จึงควรอ้างอิงงานของผู้อื่นด้วยการ quoting, paraphrasing, summarizing
- การอ้างคำพูด หรือการคัดลอกข้อความ โดยใส่เครื่องหมายคำพูดกำกับไว้ (Quoting)
- การถอดความ (ปรับเปลี่ยนประโยค แต่ยังคงไว้ซึ่งแนวคิดเดิม) (Paraphrasing)
- การสรุปความ (Summarizing)
การกระทำผิด (research misconduct) นั้น นอกจาก Plagiarism แล้ว ยังมีประเภทอื่นๆด้วย ได้แก่
fabrication (การสร้างข้อมูลขึ้นมาใหม่) falsification (การเปลี่ยนข้อมูล) และ copyright infringement (การละเมิดลิขสิทธิ์)
เอกสารอ้างอิง
สมศีล ฌานวังศะ. (2554). “การอ้างอิงหรือพาดพิงทางวิชาการต้องซื่อสัตย์” ใน พระพรหมคุณาภรณ์. นักวิชาการเทศ-ไทย หาความรู้ให้แน่ ใช่แค่คิดเอา. 318-319. กรุงเทพ : เจริญดีมั่นคงการพิมพ์.