๑๙ กันยายน วันพิพิธภัณฑ์ไทย

lib_knowledgeหลายท่านไม่เคยทราบมาก่อนว่าวันที่ ๑๙ กันยายน ของทุกปี ถือเป็น “วันพิพิธภัณฑ์ไทย” ในต่างประเทศกระแสการเก็บรวบรวมและอนุรักษ์วัตถุมีค่าต่างๆ ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๖ ขณะที่บ้านเรานั้นเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ ก็ในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔

พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของไทยนั้นอาจกล่าวได้ว่าเริ่มต้นจาก พระที่นั่งราชฤดี อยู่ใกล้กับ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับว่าราชการ ปัจจุบันพระที่นั่งหลังนี้ไม่มีแล้วเนื่องจากถูกรื้อและจัดสร้างพระที่นั่งใหม่ทับไป พระที่นั่งราชฤดีนี้ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่จัดเก็บสิ่งของต่างๆ ที่ได้รับจากบรรดาทูต พระราชอาคันตุกะ และจากที่ต่างๆ รวมถึงศิลปวัตถุและโบราณวัตถุที่ได้ทรงสะสมไว้ตั้งแต่ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นลักษณะพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ มิได้เปิดให้ราษฎรทั่วไปเข้าชม

บริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งของ พระที่นั่งราชฤดี องค์เดิมในพระบรมมหาราชวัง
ภาพจาก wikipedia

ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ขึ้นเพื่อใช้ต้อนรับพระราชอาคันตุกะรวมถึงเก็บรักษาเครื่องบรรณาการที่นานาประเทศนำมาถวาย จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้นำสิ่งของต่างๆ จากพระที่นั่งราชฤดีมาไว้ที่นี่แทน

พอเข้าสู่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระบรมราโชบายที่จะพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้านในทัดเทียมนานาอารยะประเทศ มีการจัดตั้ง พิพิธภัณฑสถานสำหรับประชาชนขึ้นเป็นครั้งแรก ณ หอคองคอเดีย หรือศาลาหทัยสมาคม ภายในพระบรมมหาราชวัง เรียกชื่อตามสโมสรทหารที่เมืองปัตตาเวีย (The Concordia Military Society) เป็นพิพิธภัณฑสถาน โดยย้ายวัตถุที่จัดแสดงในพระที่นั่งสมมติเทวราชอุปปัติ ซึ่งเดิมจัดแสดงในพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ใกล้ท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคมมาจัดแสดงที่หอคองคอเดีย เรียกว่า ตั้งมิวเซียม จัดแสดงสิ่งของต่าง ๆ ให้ประชาชนได้ชมนับแต่ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ ๒๑ พรรษา วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๑๗ มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๑๗ เราจึงถือวันที่ ๑๙ กันยายน นี้เป็น วันพิพิธภัณฑ์ไทย นั่นเอง โดยกำหนดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘

พิพิธภัณฑสถานที่หอคองคอเดีย มีลักษณะเป็นนิทรรศการชั่วคราวจัดเนื่องในโอกาสสำคัญ โดยผู้ดูแลพิพิธภัณฑสถานคือ กรมทหารมหาดเล็ก เป็นผู้รวบรวมสิ่งของเพื่อจัดแสดง นิทรรศการครั้งแรกมีคณะผู้ดำเนินการคือ พระยาภาสกรวงษ์ (พร บุนนาค) และนายเฮนรี่ อาลาบาสเตอร์ (Henry Alabaster) ชาวอังกฤษ วัตถุจัดแสดงประกอบด้วยสิ่งของที่ผลิตโดยชาวสยาม และของจากห้างร้านของชาวต่างประเทศ ซึ่งแบ่งจัดแสดงในหอคองคอเดียหรือศาลาสหทัยสมาคม นับเป็นจุดเริ่มต้นในการปรับเปลี่ยนสถานะของพิพิธภัณฑสถานให้เป็นที่รู้จักในหมู่สาธารณชน ปรากฎในเอกสารกล่าวถึงว่า

“…ของที่ไม่เคยได้เห็นก็มาได้เห็นในคราวนี้ ของในกรุงสยามมีเป็นอันมากเหลือที่จะจดจำ แต่บรรดาชายหญิงที่มานั้น ถ้าจะประมาณดูคนถึงเจ็ดหมื่นแปดหมื่น…”

พิพิธภัณฑ์ที่หอคองคอเดียนี้เปิดให้เข้าชมเฉพาะวันเฉลิมพระชนมพรรษาจนถึง พ.ศ. ๒๔๓๐ จึงโปรดเกล้าฯ ย้ายไปจัดตั้งในพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้า ซึ่งปัจจุบันคือที่ตั้งของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นั่นเอง พระราชวังบวรสถานมงคล เดิมเป็นที่ประทับของ กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ เมื่อทิวงคตใน พ.ศ. ๒๔๓๐ จึงได้มีประกาศยกเลิกตำแหน่งวังหน้า ทำให้พระราชวังแห่งนี้ว่างลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าให้ดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวมาแล้ว โดยใช้พระที่นั่งด้านหน้าคือ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เรียกว่า “พิพิธภัณฑ์วังหน้า”

9.1-2-58(500)มิวเซียมหลวง ในสมัยรัชกาลที่ ๕ หรือ หอคอยคอเดีย ภายในพระบรมมหาราชวัง
(ภาพจาก http://www.stou.ac.th/study/sumrit/2-58%28500%29/page9-2-58%28500%29.html)

พ.ศ. ๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรสถานมงคลทั้งหมดสำหรับจัดตั้งเป็น พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ต่อมารัฐบาลไทยได้ตั้ง กรมศิลปากร ขึ้น จึงได้เข้าสังกัดกรมศิลปากรและได้รับการประกาศจัดตั้งเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ พ .ศ. ๒๔๗๗
———————————————————————————————————-

เรียบเรียงจาก
– ประพิศ พงศ์มาศ และ เมธินี จิระวัฒนา. (๒๕๔๗). การสืบทอดพระราชกุศโลบายในกิจการพิพิธภัณฑสถานจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน สมเด็จพระปิยมหาราช พระผู้พระราชทานกำเนิดพิพิธภัณฑสถานเพื่อประชา. กรุงเทพ : กรมศิลปากร.
http://www.culture.go.th
– การบรรยายพิเศษในหัวข้อ กุญแจสู่ความสำเร็จในการดำเนินงานพิพิธภัณฑ์ โดย สมาคมพิพิธภัณฑ์ไทย ร่วมกับ พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย (พ.ศ. ๒๕๕๓)

เรียบเรียงโดย อภิชัย อารยะเจริญชัย
หน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

DSCF682920160915_134701_richtonehdrDSCF6731DSCF6776(ภาพโดยผู้เรียบเรียง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๗)

This entry was posted in บรรณารักษ์ชวนรู้ and tagged , , , . Bookmark the permalink.

Leave a comment