บรรณารักษ์ชวนรู้: ลดขนาด PDF File ด้วย PDFResizer

หลายท่านประสบปัญหารวมไฟล์ PDF แล้วพบว่ามีขนาดใหญ่เกินไป จะส่ง Submit ก็ไม่ได้ จะส่งเมลก็ใหญ่เกินไป บรรณารักษ์มีเว็บดี ๆ ที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้

เริ่มต้นเข้าไปที่ PDF Resizer เป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการในการจัดการกับไฟล์ PDF ไม่ว่าจะเป็นการลดขนาด ปรับค่าความละเอียด (dpi) แปลงไฟล์อื่น ๆ เป็น PDF ฯลฯ ในที่นี้เราจะเน้นไปที่การลดขนาดไฟล์กัน เมื่อเข้ามาแล้วให้ upload ไฟล์ PDF ที่ต้องการลดขนาดลงไป คลิกเลือกที่ Choose File แล้วคลิก Upload (ภาพที่ 1)

ภาพที่ 1 Upload ไฟล์ PDF ที่ต้องการลดขนาด

จากนั้นระบบจะแสดงการตั้งค่าต่าง ๆ ในที่นี้เราจะเลือกลดขนาดไฟล์ ให้คลิกที่ Resize สังเกตกลางหน้าจอจะมีคำสั่งให้เราตั้งค่า Resolution ยิ่งค่า dpi ต่ำ ขนาดของไฟล์ก็จะถูกบีบจนมีขนาดเล็กลง แต่เตือนก่อนว่าคุณภาพก็จะลดลงตามไปด้วย

เมื่อตั้งค่าได้แล้วให้คลิก Generate PDF ให้สังเกตที่ด้านขวา ระบบจะแสดงขนาดของไฟล์ภายหลังลดขนาดแล้ว ดังเช่นตัวอย่าง ภาพที่ 2 ขนาดต้นฉบับคือประมาณ 22 MB เมื่อลดขนาดโดยเลือกความละเอียดแบบ Low จะลดลง 58.19 % (ภาพที่ 2) แต่ถ้าขยับความละเอียดเป็น Medium ขนาดจะลดลง 14.34% (ภาพที่ 3)

ภาพที่ 2 เมื่อเลือกความละเอียดเป็นแบบ Low 72 dpi
ภาพที่ 3 เมื่อเลือกความละเอียดเป็นแบบ Medium 15 dpi

ผู้เขียน
อภิชัย อารยะเจริญชัย บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ
ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Posted in บรรณารักษ์ชวนรู้ | Tagged , , , | Leave a comment

บรรณารักษ์ชวนรู้: Photoshop Trick ไดคัททันใจด้วย Photoshop

Photoshop Trick ครั้งที่ 2 นำเสนอวิธีแก้ปัญหากวนใจสำหรับใครที่อยากจะลบพื้นหลังของภาพ หรือ ไดคัทวัตถุ ไม่ต้องมาสร้างมาลบเลเยอร์อะไรให้วุ่นวาย PS ยุคใหม่จัดการให้เราได้

PS เวอร์ชั่นใหม่ ๆ พัฒนาความฉลาดให้สามารถวิเคราะห์และแยกแยะได้ว่าในภาพนั้นอะไรคือภาพหลักหรือส่วนที่โดดเด่นที่สุด ออกตัวก่อนว่าการไดคัทด้วยวิธีนี้จำเป็นต้องใช้ภาพที่มีภาพหลัก เช่น ภาพบุคคล ภาพวัตถุ แอดมินลองใช้ภาพวิวหรือภาพอื่น ๆ ที่เป็นภาพทั่วไป ไม่มีอะไรเป็นจุดเด่น PS จะพยายามวิเคราะห์ว่าส่วนไหนคือส่วนที่เราต้องการ ซึ่งอาจไม่ตรวจหรือครอบคลุมไม่หมด

ลองดูจากตัวอย่าง แอดมินเลือกภาพน้องแมว ภาพนี้ชัดเจนมากเพราะไม่มีอะไรมาดึงดูดความโดดเด่นของน้องแมวไปได้เลย จากนั้นให้เลือกที่เมนู Select > Subject เพื่อให้ PS เลือกส่วนที่สำคัญที่สุดของภาพ (ภาพที่ 1) ใช้เวลาประมวลผลสักครู่ เราจะได้ภาพที่มีเส้นประล้อมรอบน้องแมวซึ่งเป็นส่วนหลักของภาพ (ภาพที่ 2)

ภาพที่ 1 เลือกคำสั่ง Select > Subject
Continue reading
Posted in บรรณารักษ์ชวนรู้ | Tagged , , , | Leave a comment

บรรณารักษ์ชวนรู้: Photoshop Trick ปรับแต่งฉากหลังเป็นท้องฟ้า

เดี๋ยวนี้มีแอปพลิเคชันแต่งรูปเกิดขึ้นมากมาย แต่ละแอปก็จะอำนวยความสะดวกแบบสำเร็จรูปให้ผู้ใช้สามารถปรับแต่งรูปได้อย่างง่ายดาย ขณะเดียวกันโปรแกรมตกแต่งรูปแบบดั้งเดิมต่างก็อยู่เฉยไม่ได้ มีการพัฒนาฟังก์ชั่นต่าง ๆ เพื่อช่วยให้การใช้งานง่ายขึ้นโดยไม่ต้องใช้ทักษะการแต่งภาพที่ซับซ้อนเหมือนแต่ก่อน

โปรแกรมปรับแต่งภาพ Adobe Photoshop ก็พยายามเพิ่มความสะดวกด้วยการเสริมทริกต่าง ๆ อย่างหนึ่งที่หลายคนประสบปัญหาคือการปรับเปลี่ยนภาพท้องฟ้าที่เป็นฉากหลัง PS ทำให้การปรับเปลี่ยนง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้น

ขั้นตอนแรกให้เปิดภาพที่ต้องการปรับขึ้นมา เลือกคำสั่ง Edit > Sky Replacement (ภาพที่ 1)

ภาพที่ 1 เลือกคำสั่ง Sky Replacement

เลือกภาพท้องฟ้าที่ต้องการและปรับแต่งให้เหมาะสม หากเรายังไม่ชอบใจภาพท้องฟ้าที่โปรแกรมมี เราสามารถเพิ่มภาพเข้าไปได้ (ภาพที่ 2-3)

Continue reading
Posted in บรรณารักษ์ชวนรู้ | Tagged , , , | Leave a comment

บรรณารักษ์ชวนอ่าน: มือนั้นสีขาว

มือนั้นสีขาว
ผู้เขียน : ศักดิ์สิริ มีสมสืบ
Call Number : PL4209.S2A17 ศ332ม 2554

‘มือนั้นสีขาว’ ผลงานชิ้นสำคัญของคุณศักดิ์สิริ มีสมสืบ ตีพิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. 2531 เป็นหนังสือรวมบทกวีนิพนธ์ไทยสมัยใหม่ ซึ่งได้รับรางวัลซีไรต์ในปี พ.ศ. 2535 ที่อยากให้ทุกคนได้อ่าน เพราะอ่านง่าย มีภาพการ์ตูนประกอบ สะท้อนสังคม จรรโลงใจและได้ความรู้

เนื่องในวาระร่วม 30 ปี ภาพกวีมีสีสัน “มือนั้นสีขาว” วรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนประจำปี 2535 เล่มนี้ ได้รวบรวมบทกวีนิพนธ์ไทยสมัยใหม่ ที่มีลักษณะสร้างสรรค์ทั้งความคิด และวิธีการนำเสนอ มุ่งแสดงอุดมคติเชิดชูคุณค่าความบริสุทธิ์และความมีน้ำใจของมนุษย์ กวีถ่ายทอดความคิดเป็นรูปธรรมที่เข้าใจง่าย ผ่านบุคคลและเหตุการณ์สมมติ ซึ่งอาจเกิดได้ในชีวิตจริงและสังคมจริง แสดงความแตกต่างระหว่างสภาวะอันบริสุทธิ์ไม่เสแสร้งของเด็ก กับสภาวะของผู้ใหญ่ที่ถูกครอบงำด้วยกรอบของสังคม เสนอแง่ความคิดอย่างประณีตหลายนัย ตีความได้กว้างขวางและลึกซึ้งด้วยกลการประพันธ์ที่เฉียบคม

หนังสือเล่มนี้ การประพันธ์ลักษณะของฉันทลักษณ์มีรูปแบบเป็นธรรมชาติสอดคล้องกับเนื้อหา คำที่ใช้เป็นคำง่าย ๆ เรียงร้อยอย่างมีลีลาจังหวะ สร้างลำนำอันทรงพลัง ให้จินตนาการภาพชัดสื่อความคิดของกวีกระทบอารมณ์และเร้าความคิดผู้อ่าน เป็นการจรรโลงความหวังให้เห็นว่าโลกอาจสงบงดงามได้ด้วยนำใจอัน บริสุทธิ์ของมนุษย์ด้วยกันเอง เป็นวรรณกรรมที่มีความดีเด่นสมควรได้รับการยกย่องเป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม

ประวัติผู้เขียน

ศักดิ์สิริ มีสมสืบ เป็นนามปากกา ชื่อจริงคือกิตติศักดิ์ มีสมสืบ โดยบิดาได้เปิดโรงเรียนเอกชนชื่อ “นิมิตศึกษา” เริ่มเข้ารับราชการเป็นครูสอนศิลปศึกษาที่โรงเรียนชุมแสงชนูทิศ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ เมื่อ พ.ศ. 2521 และใช้เวลาว่างวาดรูป เขียนกวี และเล่นดนตรี เนื่องจากเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กและมีห้องสมุดอยู่ที่บ้าน เมื่อไปเรียนเพาะช่างมีโอกาสไปพักที่บ้านของจ่าง แซ่ตั้ง ซึ่งเป็นนักเขียนและนักวาดรูปผู้มีชื่อเสียงจึงได้เรียนรู้และถูกปลุกเร้าให้สนใจการวาดรูปและเขียนบทกวีอย่างจริงจัง ได้เริ่มเขียนบทกวีที่มีฉันทลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งได้รับอิทธิพลจากบทกวีของจ่าง แซ่ตั้ง อยู่มาก

นอกจากนี้ จ่าง แซ่ตั้ง ยังได้แนะนำให้รวมพิมพ์เผยแพร่โดยใช้นามปากกา “ศักดิ์สิริ มีสมสืบ” เล่มแรกชื่อ “ตุ๊กตารอยทราย” พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2526 เล่มที่สองชื่อ “คนสอยดาว” พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2529 จนกระทั่ง พ.ศ. 2531 ได้จัดพิมพ์บทกวีเล่มที่ 3 ชื่อ “มือนั้นสีขาว” มีผู้ส่งไปประกวดรางวัลซีไรต์ โดยที่ผู้เขียนไม่ทราบเรื่อง ปรากฏว่าได้รับรางวัลซีไรต์ ประเภทกวีนิพนธ์ประจำปี 2535 ทำให้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น เขาสามารถร้องเพลงและเล่นดนตรีได้หลายอย่าง

เขาลาออกจากอาชีพครูเพื่อเป็นนักเขียนอิสระเมื่อ พ.ศ. 2536 โดยเขียนบทกวี บทเพลง เรื่องสั้น และวาดรูป และได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ จากสำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ประจำปี พ.ศ. 2548 ปัจจุบัน เป็นนักเขียนอิสระ และนักแต่งเพลง สังกัด ยุ้งข้าว เรคคอร์ด

Posted in บรรณารักษ์ชวนอ่าน | Tagged , , | Leave a comment

บรรณารักษ์ชวนรู้: สถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา

สถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา (Analytical Science and National Doping Test Institute) มีฐานะเทียบเท่าคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งขึ้นตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนพิเศษ 172 ง ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เพื่อสนับสนุนพันธกิจของมหาวิทยาลัยมหิดล ทางด้านบริการวิชาการ การวิจัย และการศึกษา ยังคงมี ศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา (ศูนย์โด๊ป) เป็นส่วนงานหลักของสถาบันฯ และในปี 2565 ได้เปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาโท “หลักสูตรวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และการตรวจในการกีฬา” ของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นรุ่นแรก เพื่อรองรับปัญหาเร่งด่วนในการขาดแคลนบุคลากรในสาขาดังกล่าว

ความเป็นมาของสถาบันฯ เริ่มต้นจากการจัดตั้ง “ศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา  (National Doping Control Centre :  NDCC)”  โดยมีพันธกิจหลักในการตรวจวิเคราะห์สารต้องห้ามในนักกีฬา  ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 112 ตอนที่ 48ก ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน  พ.ศ. 2538 สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2533 ที่ประชุมใหญ่ของสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (Olympic Council of Asia: OCA) มีมติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ในปี พ.ศ. 2541 คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย จึงแต่ตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา เพื่อเตรียมจัดตั้งห้องปฏิบัติการโดยพิจารณาด้านการจัดหางบประมาณ การกำหนดสถาบันรับรอง และควบคุมการจัดตั้งให้ดำเนินการตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนด

วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ พิจารณาจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา และมีความเห็นว่าควรจัดตั้งในมหาวิทยาลัย เพื่อจะได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการและบุคลากร แต่ด้านหารบริหารให้มีลักษณะเป็นศูนย์แห่งชาติ ไม่เป็นของมหาวิทยาลัยใดโดยเฉพาะ และให้มหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมคือ มหาวิทยาลัยมหิดล และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำข้อเสนอมาให้พิจารณา วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2537 คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ มีมติให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นที่ตั้งของ ศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬาแห่งชาติ โดยมหาวิทยาลัยมหิดลแต่งตั้งให้ ศ. ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ และ รศ. ดร.ธงธวัช อนุคระหานนท์ เป็นผู้แทนรับผิดชอบในการจัดทำรายละเอียดการจัดตั้งศูนย์ฯ ร่วมกับการกีฬาแห่งประเทศไทย

วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2537 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบสารห้องห้ามในนักกีฬา เป็นหน่วยงานระดับคณะขึ้นตรงต่อมหาวิทยาลัยมหิดล โดยเป็นโครงการร่วมกันระหว่างการกีฬาแห่งประเทศไทยและ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อหน่วยงานมีความพร้อมควรเปลี่ยนให้เป็นรูปแบบองค์กรอิสระในลักษณะเชิงพาณิชย์

โครงการดังกล่าวดำเนินการอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งมีพิธีเปิดอาคารสำนักงานและเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 ซึ่งมีภาระกิจในการตรวจหาสารต้องห้ามในนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่กรุงเทพมหานคร (วันที่ 6-20 ธันวาคม พ.ศ. 2541) และจะเป็นหน่วยงานถาวรรับผิดชอบการตรวจหาสารต้องห้ามในนักกีฬาและการตรวจวิเคราะห์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยมีอาคารสำนักงานตั้งอยู่ภายในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนพระรามที่ 6

ศูนย์ตรวจสอบสารห้องห้ามในนักกีฬา ดำเนินการเรื่อยมาจนกระทั่ง พ.ศ. 2561 ได้ยกสถานะขึ้นเป็น “สถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา” ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนพิเศษ 172 ง ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เดือนพฤศจิกายน  พ.ศ. 2562 ศูนย์ตรวจสอบฯ จำเป็นต้องพักการดำเนินการชั่วคราว เพื่อปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์กรต่อต้านสารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency) หรือ วาดา (WADA) หลังจากที่ได้ทำหน้าที่ในฐานะหน่วยงานของชาติ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬาระดับโลกมานานนับ 2 ทศวรรษ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหน่วยงานผู้กำกับดูแล วางระบบการบริหารจัดการที่รองรับความเสี่ยงครอบคลุมในทุกด้าน รวมทั้งงบประมาณสำรองที่เพียงพอ ทำให้ไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากส่วนกลางของมหาวิทยาลัยมหิดล จนกระทั่ง WADA ได้อนุมัติให้กลับมาดำเนินการอีกครั้ง โดยจะมีภารกิจสำคัญคือการตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขัน ซีเกมส์ 2022 ณ ประเทศเวียดนาม ในฐานะที่เป็นศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามที่ได้มาตรฐานระดับโลกเพียงแห่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน

บทบาทหลักของศูนย์ตรวจสอบฯ คือ การตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬาให้ได้ตามมาตรฐานของ  WADA ในขณะที่รูปแบบของการใช้สารต้องห้ามที่ตรวจพบในนักกีฬาระดับโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้เท่าทัน ซึ่งในการนี้จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีการพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญไว้รองรับ ด้วยประสบการณ์ในการกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมาของศูนย์ฯ จึงมั่นใจได้ถึงความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนองค์ความรู้ในการจัดตั้ง หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์ (หลักสูตรนานาชาติ) ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปี 2565

ปัจจุบัน ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ตรวจสารต้องห้ามในนักกีฬา สถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล และ รองศาสตราจารย์ ดร.สิริพงษ์ ฐิตะมาดี ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่มา

  1. ประวัติความเป็นมา สถาบันวิทยาศาสตร์การวิเคราะห์และตรวจสารในการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล. เข้าถึงได้จาก https://andi.mahidol.ac.th/history [สืบค้นเมื่อ 4 ธันวาคม 2566]
  2. ม.มหิดล เชื่อมั่น “ศูนย์โด๊ป” พร้อมพิสูจน์ศักยภาพหลัง WADA ไฟเขียว. (2564). เข้าถึงได้จาก https://www.hfocus.org/content/2021/09/23005 [สืบค้นเมื่อ 4 ธันวาคม 2566]
  3. หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดศูนย์ตรวจสอบสารต้องห้ามในนักกีฬา 28 พฤศจิกายน 2541.
Posted in บรรณารักษ์ชวนรู้ | Tagged | Leave a comment

บรรณารักษ์ชวนรู้: เรือประเพณี มหิดล-ศิลปากร

หลังจากแอดมินนำเสนอภาพการแข่งขันเรือประเพณี มหิดล-ศิลปากร ไปได้ไม่นาน ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี แอดมินจึงขอนำเสนอประวัติการแข่งขันเรือประเพณี คัดลอกจากสูจิบัตรการแข่งขันเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ มาบันทึกไว้เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษากัน

ที่มา : สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล และ สโมรสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร. (๒๕๑๕) มหิดล-ศิลปากร เรือประเพณี. กรุงเทพ : อักษรสมัย.

ความเป็นมาของการแข่งขันเรือประเพณี ระหว่าง “มหิดล” กับ “ศิลปากร” เริ่มเมื่อปี ๒๕๐๗ ซึ่งมีนักศึกษาของมหาวิทยาลัยศิลปากร ๒ ท่าน คือ นายแนบ โสถิพันธุ์ และ นายประจักษ์ คงวิทย์ ได้รับเชิญให้ไปตกแต่งเวทีเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งพอดีกับในปีนั้นทางแพทย์ศิริราชได้เลิกการแข่งขันเรือประเพณีกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากเหตุบางประการ จึงทาบทามทางมหาวิทยาลัยศิลปากรกับนายแนบ โสถิพันธุ์ และนายประจักษ์ คงวิทย์ ซึ่งก็ได้รับการตกลงด้วยดี ประเพณีการแข่งขันเรือแพทยศาสตร์ศิริราชกับศิลปากร จึงได้เริ่มขึ้นเป็นปีแรกในปี ๒๕๐๗ ต่อมาจึงได้เปลี่ยนเป็นการแข่งเรือประเพณีระหว่างมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในขณะนั้นกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมีจำนวนนักศึกษาพอ ๆ กันและอยู่ใกล้กัน เมื่อมีเรือประเพณีขึ้นทำให้นักศึกษาทั้งสองสถาบันเกิดความสนิทสนมกลมเกลียวกัน มีนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มานอนเล่นเป็นประจำในห้องทำงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร และเมื่อนักศึกษาของมหาวิทยาลัยศิลปากรเจ็บไข้ได้ป่วยก็ข้ามท่ามามาหมอที่ศิริราช ก็ได้รับการรักษาอย่างสะดวกสบาย

สำหรับถ้วยรางวัลในสมัยแรก ๆ ก็ได้จัดทำกันขึ้นเอง โดยปั้นเป็นดินบ้าง วัสดุอื่นบ้าง ทั้งนี้เพื่อให้เห็นว่าเราจัดเรือประเพณีขึ้นมา มิใช่เพื่อการประกวดประชันกัน แก่งแย่งชิงกัน ซึ่งนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบกัน แต่เราจัดเพื่อความสนุกสนานและนำไปสู่มิตรภาพระหว่างสองสถาบันอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้ว่ามีการแข่งเรือประเภทตลกต่าง ๆ เช่น พายถัง พายกะละมัง พายโอ่ง เป็นต้น ค่าใช้จ่ายก็เป็นจำนวนเงินเล็กน้อย เพียงมหาวิทยาลัยละ ๗๕๐ บาทเท่านั้น ผู้เป็นเจ้าภาพก็ออกมากหน่อย ปีต่อ ๆ มาจึงออกค่าใช้จ่ายกันคนละครึ่ง แต่มาปีหลัง ๆ จึงให้ออกค่าใช้จ่ายของตัวเอง ส่วนเงินกองกลางใช้เฉพาะงานจัดเลี้ยงฉลองเท่านั้น

ที่มาภาพ : หนังสือวิทยาศาสตร์อนุสรณ์ ๒๕๑๖.

Posted in บรรณารักษ์ชวนรู้ | Leave a comment

บรรณารักษ์ชวนอ่าน : ยาแก้ป่วย

ยาแก้ป่วย
Call Number : QV55 ภ779ย 2552
ผู้เขียน : เภสัชขี้บ่น

‘ยาแก้ป่วย’ ผลงานชิ้นสำคัญของเภสัชขี้บ่น ตีพิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. 2552 เป็นหนึ่งในหนังสือแนวแนะนำการใช้ยาและการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง ที่อยากให้ทุกคนได้อ่าน เพราะอ่านง่าย มีภาพการ์ตูนประกอบ สนุกสนานและได้ความรู้ สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้

ปัจจุบัน คนไทยชอบที่จะซื้อยามารับประทานเองเมื่อรู้สึกไม่สบาย และหาซื้อที่ร้านขายยาใกล้บ้าน แต่คุณรู้หรือไม่ว่าการทำเช่นนี้อาจเป็นอันตรายได้อย่างคาดไม่ถึง! หนังสือเล่มนี้ ได้บอกเล่าประเด็นความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการใช้ยา และดูแลสุขภาพที่พบได้ใกล้ตัว ด้วยการอธิบายเนื้อหาอย่างสบาย ๆ เข้าใจง่าย พร้อมภาพประกอบการ์ตูนน่ารักที่จะทำให้คุณอ่านไปยิ้มไป สำหรับคนที่ชอบซื้อยาจากร้านยา หรือว่ามีคนรู้จักจำเป็นต้องใช้ยาอยู่บ่อย ๆ หรือสาว ๆ ที่นิยมผลิตภัณฑ์บำรุงเพื่อความสวยความงาม หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้คุณซื้อยาถูก กินยาเป็น ปลอดภัย หายห่วงได้อย่างแน่นอน

– อย่าวินิจฉัยโรคเอง
– อย่ากินยาตามคนข้างบ้านบอก
– อย่าลืมอ่านฉลากยา และฉลากโภชนาการ
– อย่าให้คนท้อง เด็ก คนแก่ กินยาตัวเดียวกัน
– อย่าออกจากร้านยาโดยไม่ได้ปรึกษาเภสัช

เนื้อหาในเล่มประกอบด้วยสาระสำคัญ 4 หัวข้อ

หัวข้อที่ 1 ยาอันตราย อ่านก่อนซื้อ
หัวข้อที่ 2 ยาสำหรับโรคเรื้อรัง
หัวข้อที่ 3 การใช้ยากับคนพิเศษ
หัวข้อที่ 4 ความรู้ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับยา

Posted in บรรณารักษ์ชวนอ่าน | Tagged , , , , | Leave a comment

บรรณารักษ์ชวนอ่าน : จำเก่ง จำแม่น จำนาน

จำเก่ง จำแม่น จำนาน
ผู้เขียน : มาซาฮิโระ คุริตะ
ผู้แปล : ธนัญ พลแสน

Call Number : BF385 ค679จ 2553

‘จำเก่ง จำแม่น จำนาน’ ผลงานชิ้นสำคัญของคุณมาซาฮิโระ คุริตะ แปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกปี  พ.ศ. 2553 โดยคุณธนัญ พลแสน เป็นหนึ่งในหนังสือแนวจิตวิทยาและพัฒนาตัวเองที่อยากให้ทุกคนได้อ่าน เพราะอ่านง่าย ได้ความรู้และเทคนิคการจำ สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้

หนังสือ “จำเก่ง จำแม่น จำนาน” นำเทคนิคการพัฒนาทักษะการจำให้กับคุณ พร้อมพัฒนาศักยภาพของสมอง ให้สูงขึ้นด้วย 26 วิธีการจำแบบคุริตะ ที่ผู้เขียนซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการจำและการอ่านเร็ว ที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นได้คิดค้นขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการจำที่เป็นธรรมชาติและไม่ฝืนตนเอง ขอเพียงแค่คุณเปิดใจเรียนรู้อย่างยืดหยุ่น และเลือกฝึกวิธีที่สนใจจนชำนาญ หนังสือเล่มนี้ช่วยคุณได้ ด้วยเทคนิคการจำที่สนุกและครบสูตร ช่วยให้คุณ จำเก่ง จำแม่น จำนาน แล้วความจำของคุณจะดีขึ้น 10 เท่าเลยทีเดียว

ถ้าคุณเคยท้อกับความจำของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน การทำงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวันหนังสือเล่มนี้จะเพิ่มพลังความจำให้คุณได้ ซึ่งจะช่วยสร้างพลังในการจดจำให้สูงขึ้น โดยวิธีการจำที่สนุกสนานและเพลิดเพลิน ช่วยพัฒนาความสามารถในการจดจำและศักยภาพของสมองให้สูงขึ้นอีกด้วย

เนื้อหาในเล่มประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 บท

บทที่ 1 “ความจำ” พัฒนาได้เสมอ!
– คนที่มีความจำดีกับคนที่มีความจำไม่ดี ต่างกันตรงนี้
– วิธีการจำเรียงตามตัวอักษรแบบคุริตะ

บทที่ 2 ต้องลอง! “วิธีจำแบบ คุริตะ”
– “ความจำ” จะดีขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ ด้วยการ ฝึกพื้นฐาน นี้
– วิธีอุปมา เชื่อมโยงสิ่งที่เห็นเหมือนกัน ช่วยเพิ่มพลังการจดจำ
– วิธีเกินจริง ทำรายละเอียดในการจำให้ “เกินจริง”
– วิธีสร้างประสบการณ์ จำง่ายขึ้นเมื่อเห็นภาพแจ่มชัด
– วิธีวาดรูป ลองบันทึกเนื้อหาหรือข้อความเป็นภาพดู
–  วิธีลากเส้น ประยุกต์ใช้ได้ไม่มีขีดจำกัด !
– ใช้ตารางช่วยจำ
– วิธีปลุกชีวิต วิธีจำอันเป็นรากฐานให้กับ “พลังแห่งจินตนาการ”
– วิธีเติมอารมณ์ วิธีจดจำ “ไม่ให้ลืม” โดยอาศัยอารมณ์ร่วม
– วิธีควบคุมพื้นที่ สร้างพื้นที่เก็บความทรงจำ

บทที่ 3 “สมองดี ” สร้างกันแบบนี้!
– วิธีใช้รูปภาพ วิธีที่เหมาะที่สุดสำหรับการเตรียมตัวสอบ
– วิธีใช้คีย์เวิร์ด จำเนื้อหาได้หมดในครั้งเดียว
– วิธีแต่งสวน เทคนิคการจำให้ “นึกออกง่าย”
– ใช้การฝึก “วิธีจำ” ช่วยป้องกันสมองเสื่อม
– วิธีฟื้นความทรงจำ เทคนิคหลักในการ “เรียก” ข้อมูล
–  วิธีเจียระไน เทคนิคเก็บรักษาความทรงจำไว้ ป้องกันการ “ลืม”
– เซนส์ในการ “จำ” ขัดเกลากันอย่างนี้ !
– วิธีฝัน ใช้จิตใต้สำนึกให้เป็นประโยชน์
– วิธีตรึงข้อมูล ควบคุมข้อมูลให้อยู่หมัด
– วิธีย่อ-ขยาย สรุปข้อมูลซับซ้อนทั้งหลายได้อย่างหมดจด
– วิธีประสาน สร้าง “ทางเชื่อมโยงใหม่” ให้ข้อมูล
– วิธีสรรค์สร้าง วิธีสร้าง “ไฟล์” ความจำ
– วิธีแปลงสภาพ ปรับเปลี่ยนได้ตามใจทั้ง “ข้อมูลอักษร และ ข้อมูลภาพ”.
– วิธีไฮสปีด ประสิทธิภาพในการจำทวีขึ้นด้วยการจัดการแบบไฮสปีด
– ขอต้อนรับสู่ “เทือกเขาแห่ง SRS”

Posted in บรรณารักษ์ชวนอ่าน | Tagged , , | Leave a comment