บรรณารักษ์ชวนอ่าน : ถ้าโลกนี้ไม่มีต้นไม้

ชาธร สิทธิเคหภาค. (2552). ถ้าโลกนี้ไม่มีต้นไม้ ?. กรุงเทพ : พาบุญมา.
เลขหมู่ : SD411 ช519ถ 2552

เรื่องของกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนับวันจะมีมากขึ้นทุกที ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นเตือนด้วยจิตสำนึกที่แท้ หรือเพราะทำไปตามกระแส หรือจะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ การได้ลงมือกระทำแม้เพียงเล็กน้อย บรรณารักษ์เชื่อว่าล้วนแต่เป็นสิ่งดี หรืออย่างน้อยก็น่าจะเป็นการสะกิดต่อม “สำนึก” ในใจลึกๆ ได้เหมือนกัน

การอนุรักษ์นั้นมิใช่การไม่ใช่เลย หากแต่คือการใช้อย่างคุ้มค่าและเท่าที่จำเป็น ดังนั้นการตะบี้ตะบันประหยัดหรือไม่ยอมใช้ ปฏิเสธสิ่งจำเป็นทุกสิ่งอัน แบบนั้นจะเรียกว่าอนุรักษ์ก็คงไม่ใช่

ถ้าโลกนี้ไม่มีต้นไม้ เป็นผลงานของ ชาธร สิทธิเคหภาค นักเขียนสารคดีจาก Nature Explorer ชายผู้รักต้นไม้คนนี้เคยร่วมงานอนุรักษ์กับ WFT (World Wildlife Funds Thailand) เขามีผลงานด้านสิ่งแวดล้อมออกมามากมาย รวมถึงหนังสือเล่มนี้ด้วย

หนังสือเล่มนี้ให้ความรู้เรื่องของป่าไม้ที่หลายคนยังไม่เคยรู้มาก่อน โดยทั่วไปเรามักรู้แค่ว่าป่าไม้มีความสำคัญ แต่เราไม่เคยได้ทำความรู้จักกับป่าไม้อย่างจริงจังเลย รวมถึงความสำคัญของต้นไม้ที่มีต่อเรา ที่มีต่อโลก โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็นส่วนเพื่อให้เราเข้าใจง่าย ค่อยๆ ทำให้เรารู้สึกเข้าใจถึงความสำคัญของต้นไม้ มองเห็นถึงปัญหา และสรุปท้ายด้วยการให้ความหวังว่าป่าไม้จะไม่สูญถ้าเราร่วมมือกัน

“ขณะที่คุณอ่านหนังสือเล่มนี้ ทุกๆ นาทีทั่วโลกกำลังสูญเสียผืนป่าไปขนาดพอๆ กับสนามฟุตบอล” ประโยคแรกที่เราจะได้อ่านจากหนังสือเล่มนี้ มันน่าจะบ่งบอกนัยสำคัญบางอย่างให้กับผู้อ่านได้ดีทีเดียว และสิ่งที่บรรณารักษ์เห็นว่าค่อนข้างเป็นจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือข้อมูลอ้างอิงที่ช่วยตอกย้ำว่าสถานการณ์ของต้นไม้บนโลกใบนี้กำลังวิกฤตเพียงใด อาจไม่ต้องกังวลถึงโลกทั้งใบก็ได้ เอาแค่ในประเทศไทยของเราก็อยู่ในขั้นที่น่าเป็นห่วงเสียแล้ว

แต่ในความน่าเป็นห่วงก็ใช่ว่าจะสิ้นหวัง บ้านเรายังมีกลุ่มคนที่ห่วงใยและกู้วิกฤตในครั้งนี้ แต่อนิจจา บรรณารักษ์คิดว่ามันอาจจะยังน้อยเกินไป ขาดความช่วยเหลือจากภาคส่วนที่มีหน้าที่โดยตรง กฎหมายที่เข้มแข็งแต่เพียงบนกระดาษ ที่สำคัญคือสำนึกของคนในชาติที่ยังมองว่าเหล่านี้คือเรื่องไกลตัวหรือไม่ใช่หน้าที่ที่ควรจะใส่ใจ

หากท่านใดสนใจข้อมูลเรื่องต้นไม้ สภาพวคามเป็นจริงในปัจจุบันของสถานการณ์สิ่งแวดล้อมโลก ข้อมูลหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการอนุรักษ์ องค์กรและกลุ่มพลังในประเทศที่กำลังมุ่งมั่นทำหน้าที่ (ที่ความจริงควรจะเป็นของทุกๆ คนในชาติ) หนังสือเล่มนี้น่าจะช่วยเสริมเติมเต็มสิ่งที่ท่านต้องการได้ ที่สำคัญมันอาจกระตุ้นให้เกิดความรักและห่วงใยต้นไม้มากกว่าที่เป็น

———————————————————————————————————————————-

อภิชัย อารยะเจริญชัย
หน่วยบริการสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ และหน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ฯ
ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

This entry was posted in บรรณารักษ์ชวนอ่าน, แนะนำหนังสือ and tagged , , , , , . Bookmark the permalink.

Leave a comment