บรรณารักษ์ชวนอ่าน : สามก๊ก ฉบับคนกันเอง

เอื้อ อัญชลี. (๒๕๔๙). สามก๊ก ฉบับคนกันเอง ภาคหนึ่ง : ขุนเขาไม่เปลี่ยน สายน้ำไม่ขาด. กรุงเทพ : มติชน.
เลขหมู่ : PL4209.A9 อ929ส 2549

เคยมีใครบางคนกล่าวไว้ว่า “ผู้ใดอ่านสามก๊กครบสามจบ คบไม่ได้” แต่บรรณารักษ์กลับเชื่อว่าถ้าท่านมีเพื่อนฝูงที่อ่านสามก๊กจนเจนจบก็ควรคบหาไว้ใกล้ตัวเถิด เพราะเขาผู้นั้นน่าจะรอบรู้ในศาสตร์ของมนุษย์พอควร หรือจะคบเอาด้วยเห็นว่าแปลกก็คงจะได้ เพราะสมัยนี้หาคนอ่านสามก๊กมากกว่ารอบได้ยากเต็มที เอาแค่รอบเดียว หลายคนเลิกอ่านกลางคันกันเสียก็มาก

เรื่องราวของ “สามก๊ก” เป็นการเรียบเรียงพงศาวดารจีนในยุคที่มีการทำสงครามแย่งชิงอำนาจหลังสิ้นสุดราชวงศ์ฮั่น นักประวัติศาสตร์บางคนวิเคราะห์ไว้ว่าเรื่องราวในสามก๊กอาจมีการเติมแต่งจนผิดเพี้ยนไปจากความจริง ว่ากันว่าในสมัยราชวงศ์ชิงมีการฟื้นฟูสามก๊กกันครั้งใหญ่ เอามาดัดแปลงเป็นงิ้วเป็นละครให้ชาวฮั่นดูกันจนติดงอมแงม ไม่เป็นอันทำการใหญ่ ทำให้ชาวแมนจูปกครองชาวฮั่นได้สะดวกโยธิน จะจริงแท้เช่นไรบรรณารักษ์ก็ไม่อาจทราบได้ แต่ที่ว่ากันว่าสามก๊กมีอิทธิพลต่อศาสตร์ต่างๆ จนชาวตะวันตกยกย่องให้เป็นวรรณกรรมของฝั่งตะวันออกที่ควรศึกษา ถึงขั้นที่มีการเปิดสอนวิชาสามก๊กวิทยาขึ้นเป็นจริงเป็นจังขึ้นมา

ชาวเรานั้นรู้จักสามก๊กจากผลงานแปลเป็นภาษาไทยโดย เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้แปลไว้เพื่อให้ชาวสยามได้เรียนได้อ่านกัน สืบเนื่องมาจากถึงเดี๋ยวนี้ สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลังก็ยังเป็นฉบับที่คนไทยนิยมอ่านที่สุด รวมถึงใช้เป็นตำราเรียนอีกด้วย นอกจากเนื้อหาของสามก๊กที่มีความยาวมากแล้ว ยังมีนักเขียนอีกหลายท่านที่นำวรรณกรรมชิ้นเอกนี้มาเขียนเพิ่มเติม ทั้งบทวิเคราะห์ บทวิจารณ์ วรรณกรรมเปรียบเทียบ หรือใช้อ้างอิงกับเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย ที่พอจะคุ้นๆ กันก็เช่น “สามก๊ก ฉบับวณิพก” โดย ยาขอบ หรือ โชติ แพร่พันธุ์ “สามก๊ก ฉบับนายทุน” โดย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช “ตำราพิชัยสงครามสามก๊ก” ที่เขียนโดยผู้รู้หลายท่าน และเล่มนี้ที่บรรณารักษ์แนะนำ “สามก๊ก ฉบับคนกันเอง”

สามก๊ก ฉบับคนกันเอง เป็นผลงานรวมเล่มจากคอลัมน์ชื่อเดียวกันนี้ที่ตีพิมพ์ประจำใน มติชนสุดสัปดาห์ เป็นงานเขียนที่เปรียบเทียบสถานการณ์ปัจจุบันที่พบได้ในสังคมทั้งการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ไปจนถึงเรื่องสัพเพเหระ โดยอ้างอิงถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในสามก๊ก เป็นงานเขียนที่มีเนื้อหาแปลกแตกต่างไปจากงานเขียนเกี่ยวกับสามก๊กชิ้นอื่นๆ ที่มักจะมุ่งเน้นในเชิงวิเคราะห์เกี่ยวกับหลักจิตวิทยา การใช้คน การเมือง หรือกลศึก แต่ผู้เขียนกลับนำสามก๊กมาเชื่อมโยงกับเรื่องราวธรรมดาๆ ที่สามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้อ่านรู้สึกมีส่วนร่วมและเข้าถึงได้ง่ายอย่างเช่นตอนหนึ่งที่ผู้เขียนเล่าถึงนักร้องซุปตาร์เอเชีย เจย์ โจว ซึ่งก็ยังอุตส่าห์เชื่อมโยงไปถึง จิวยี่ แม่ทัพกังตั๋งผู้พิศมัยเสียดนตรี ความเป็นคนนิสัยใจร้อนของบิดาของผู้เขียน ก็พาดพิงไปถึง เตียวหุย ทหารเอกน้องร่วมสาบานของ เล่าปี่ ความเห็นเรื่องอาจารย์กับลูกศิษย์ ผู้เขียนก็ยกตัวอย่าง สุมาเต๊กโช เป็นข้อเปรียบเทียบ แล้วยังมีทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี ภาพยนตร์ ทั้งหมดนั้นเป็นมุมมองที่ผู้เขียนได้รับจากการอ่านสามก๊กทั้งสิ้น

มีอยู่ตอนหนึ่งที่บรรณารักษ์เห็นว่าเป็นมุมมองที่น่าสนใจของผู้เขียนที่เห็นต่างจากมุมมองอื่นๆ จากที่เราเคยได้รับรู้มา นั่นคือตอน จูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊า ซึ่งบรรณารักษ์เชื่อว่าหลายท่าน่าจะยังจำเนื้อหาในตอนนี้ได้ เนื่องจากหลวงท่านได้ตัดเอาตอนนี้มาเป็นบทเรียนวิชาภาษาไทยให้เราท่านได้ร่ำเรียนกัน เนื้อหาคร่าวๆ ก็ว่าด้วยความเก่งกาจของทหารเสือ จูล่ง ที่บุกเดี่ยวเข้าไปไปช่วยนายน้อย อาเต๊า บุตรชายวัยไม่ถึงขวบของ เล่าปี่ เป็นการนำเสนอถึงความสามารถในการทำศึกของจูล่งและยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีต่อผู้เป็นนายเหนือหัวชนิดที่ยอมตายให้ได้ พอจูล่งนำอาเต๊ามามอบคืนให้เล่าปี่ เล่าปี่กลับโยนลูกทิ้งแล้วบริภาษว่า “เพราะอ้ายลูกจัญไร ทำให้ข้าเกือบเสียจูล่ง” หลายท่านต่างอธิบายว่านี่คือกลวิธีในการซื้อใจลูกน้องของเล่าปี่ที่แสดงให้เห้นว่าเขารักลูกน้องยิ่งกว่าลูกในไส้

แต่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้กลับมองในมุมมต่าง หลังจากที่เราท่านต่างรู้ดีว่าที่สุดแล้ว จ๊กก๊ก ที่เล่าปี่อุตส่าห์พากเพียรสถาปนาขึ้นมาก็ต้องล่มสลายเพราะความไม่เอาไหนของอาเต๊าหรือพระเจ้าเล่าเสี้ยนในเวลาต่อมา โดยผู้เขียนแสดงทัศนะว่า “…เล่าปี่อาจไม่ได้โยนลูกทิ้งเพื่อซื้อใจจูล่งอย่างที่มีคนคิดกัน แต่เพราะสะเทือนในกับวีรกรรมของจูล่งจนสุดจะกลั้นต่างหาก การโยนอาเต๊าทิ้งก็เพื่อจะบอกเป็นนัยแก่จูล่งว่า ทำไมต้องเอาชีวิตทุ่มเทลงไปขนาดนั้น เพียงเพื่อเด็ทารกคนเดียวที่ยังทำประโยชน์อะไรไม่ได้…”  นี่เป็นตัวอย่างของความคิดเห็นที่มีต่อสามก๊ก ซึ่งบรรณารักษ์เห็นว่าเป็นมุมมองที่ต่างจากหนังสือเล่มอื่นๆ เป็นการเปิดโลกทัศน์ในมุมกลับให้กับผู้อ่านนอกเหนือจากการรับรู้ความเห็นเดิมๆ ที่คุ้นเคยกัน

สามก๊ก ฉบับคนกันเอง เล่มนี้เป็นเล่มแรกของซี่รี่ส์ที่พิมพ์รวมเล่มออกมาแล้วสามเล่ม ส่วนในมติชนสุดสัปดาห์นั้นก็ยังมีตีพิมพ์อย่างสม่ำเสมอ ใครที่นิยมสามก๊ก หรือคิดจะอ่านสามก๊กแต่ยังไม่พร้อม (หลังจากเห็นความหนา) ลองมาอ่าน สามก๊ก ฉบับคนกันเอง นี้ก่อนก็ได้ ท่านจะได้ลิ้มรสชาติใหม่ๆ ของงานเขียนเกี่ยวกับสามก๊กที่ไม่จำเป็นต้องเครียดไปกับการเมืองหรือการศึก ส่วนท่านที่ยังไม่เคยอ่านสามก๊ก หนังสือเล่มนี้ก็น่าจะกระตุ้นต่อมความอยากอ่านให้มากขึ้นก็เป็นได้

———————————————————————————————————————————-

อภิชัย อารยะเจริญชัย
หน่วยบริการสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ และหน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ฯ
ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

This entry was posted in บรรณารักษ์ชวนอ่าน, แนะนำหนังสือ and tagged , , . Bookmark the permalink.

1 Response to บรรณารักษ์ชวนอ่าน : สามก๊ก ฉบับคนกันเอง

  1. คุณเอื้อเขียนเรื่องสามก๊กไว้ดีมากเลยครับ เสียดายที่ตอนนี้ไม่เขียนแล้ว

Leave a comment