บรรณารักษ์ชวนรู้ : ค้นหาสิทธิบัตรกันอย่างไร (๒)

ต่อเนื่องจากคราวที่แล้วเกี่ยวกับวิธีกาlib_knowledgeรค้นหาสิทธิบัตร คราวก่อนเราค้นหาสิทธิบัตรจากฐานข้อมูลออนไลน์ Scopus และ SciFinder ซึ่งวิธีการใช้งานก็ไม่ต่างจากการค้นหาบทความวิชาการทั่วไปเลย ครั้งนี้จะมาลองใช้ฐานข้อมูลที่พัฒนาขึ้นจาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งผมคิดว่ามันใช้งานง่ายและสะดวกจริงๆ ครับ

วิธีการค้นยังคงคล้ายๆ กับการค้นหาบทความวิชาการจากวารสารอิเล็กทรอนิกส์และฐานข้อมูลอื่นๆ เช่นเดิม การค้นหาของกรมทรัพย์สินทางปัญญานั้นใช้วิธีการค้นหาจากหน่วยงานสิทธิบัตร ของประเทศต่างๆ ได้แก่ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) สำนักงานสิทธิบัตรยุโรป (EPO) สำนักงานสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกา (USPTO) จีน (SIPO) ออสเตรเลีย(IP Australia)  ญี่ปุ่น (JPO)  เยอรมนี (DPMA) เกาหลี (KIPO) และประเทศไทย (DIP) ใช้การค้นแบบ one search คือค้นหาเพียงครั้งเดียวจากทุกๆ แหล่ง แต่ถ้าหากต้องการค้นเฉพาะบางแหล่งเราก็สามารถเลือกได้ตามต้องการ

รูปที่ ๑ : เว็บไซต์ “กรมทรัพย์สินทางปัญญา“

รูปที่ ๑ : เว็บไซต์ “กรมทรัพย์สินทางปัญญา“

เริ่มต้นไปที่เว็บไซต์ของ กรมทรัพย์สินทางปัญญา  เลือกเมนูด้านซ้ายที่ ค้นหาสิทธิบัตรจากทั่วโลก จะปรากฏหน้าตาตาม รูปที่ 2 ถึงตรงนี้ก็จะพบว่าเราสามารถค้นหาได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการค้นแบบ Basic Search ค้นหาจากหมายเลขสิทธิบัตร (กรณีที่ทราบหมายเลข) เราสามารถเลือกค้นจากสำนักงานสิทธิบัตรจากประเทศที่ต้องการ หรือจะค้นจากทุกประเทศเลยก็ได้ ในตัวอย่างผมลองค้นจากทุกประเทศที่มี และพิมพ์คำค้นลงไป (ลองใช้คำว่า Jasmine Rice)

รูปที่ ๒ : หน้าจอค้นหาสิทธิบัตร

รูปที่ ๒ : หน้าจอค้นหาสิทธิบัตร

รูปที่ ๓ : ผลการสืบค้น

รูปที่ ๓ : ผลการสืบค้น

เมื่อทำการค้นหาข้อมูลเสร็จแล้ว ระบบจะแสดงผลเป็นตารางรายชื่อสิทธิบัตร (รูปที่ ๓) ถ้ามองดูด้านบนจะมีตัวเลขระบุว่าพบสิทธิบัตรกี่ชิ้น จากแหล่งใดบ้าง เช่นในตัวอย่างบอกว่า พบสิทธิบัตรจากประเทศไทย ๑ ฉบับ ออสเตรเลีย ๑ ฉบับ อเมริกา ๗ ฉบับ เป็นต้น ส่วนรายละเอียดของแต่ละฉบับก็สามารถคลิกดูได้จากตารางด้านล่าง โดยเลือกคลิกที่ เลขที่คำขอ หรือ เลขที่ประกาศ

จากนั้นจะมีหน้าต่างใหม่ปรากฏตาม รูปที่ ๔ แสดงข้อมูลของสิทธิบัตรชิ้นนั้น อย่างในตัวอย่าง เป็นผลิตภัณฑ์ ครีมขัดผิวข้าวหอมมะลิ ระบบจะแสดงชื่อผู้ขอจดทะเบียน ผู้ประดิษฐ์/ผู้ออกแบบ บทสรุปการประดิษฐ์ ข้อถือสิทธิ์ ส่วนประกอบ รายละเอียดการประดิษฐ์ ฯลฯ เหล่านี้สามารถเปิดดูฉบับเต็มได้ในรูปแบบของไฟล์ TIFF

รูปที่ ๔ : รายละเอียดของสิทธิบัตร ถ้าต้องการอ่านฉบับเต็มก็คลิกเลือกดูเป็นไฟล์ TIFF

รูปที่ ๔ : รายละเอียดของสิทธิบัตร ถ้าต้องการอ่านฉบับเต็มก็คลิกเลือกดูเป็นไฟล์ TIFF

หากว่าเราต้องการค้นหานอกเหนือที่มีในเว็บของกรมทรัพย์สินฯ เราก็สามารถเข้าไปค้นได้โดยตรงจากสำนักงานสิทธิบัตรของประเทศต่างๆ ได้โดยตรง หากไม่ทราบเว็บไซต์ก็คงต้องอาศัย Google แล้วล่ะครับ แต่ที่ใช้กันโดยทั่วไปเพราะค่อนข้างมีสิทธิบัตรจำนวนมาก ก็ได้แก่ สำนักงานสิทธิบัตรยุโรป (EPO) และ สำนักงานสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกา (USPTO) ส่วนในเอเชียที่นิยมค้นหาก็ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน

ทีนี้ถ้าเกิดรู้สึกว่ามันก็ยังยุ่งยากอยู่ดี ไม่อยากจำ URL ไม่อยากต้องมาคลิกหลายรอบ ก็ลองมาใช้ของที่คุ้นเคยกันอย่าง Google ก็ได้ครับ Google ตอบสนองความต้องการของเราด้วยการทำ “Google Patents” เอาไว้สำหรับให้ชาวเน็ตค้นหาสิทธิบัตรโดยเฉพาะ ตอนนี้มีการรวบรวมไว้แล้วมากกว่า ๘ ล้านรายการ วิธีการค้นก็ไม่ต้องคิดอะไรมากครับ ใส่คำค้นลงไปเท่านั้น ระบบก็จะค้นให้ทันที เหมือนใช้ Search Engine ค้นข้อมูลทั่วๆ ไปนั่นหละครับ พอ Google แสดงผลออกมาเราก็จิ้มเลือกฉบับที่ต้องการแล้วระบบจะทำ link พาเราไปยังตัวสิทธิบัตรฉบับเต็มให้เลย

รูปที่ ๕ : Google Patents

รูปที่ ๕ : Google Patents

 

เป็นอย่างไรบ้างครับกับการค้นหาสิทธิบัตรทั้งสองตอน ไม่ยากเลยใช่ไหมครับ หากต้องการค้นแบบง่ายๆ และรวดเร็วก็แนะนำให้ลองใช้ Google Patents ก็ได้นะครับ แต่ก็ต้องระมัดระวังนิดหน่อยเพราะผลการค้นหาอาจจะได้มากมายเกินต้องการ ด้วยระบบการค้นหาแบบ Search Engine จึงทำให้ได้ผลลัพธ์เยอะแยะ จึงต้องเลือกใช้คำค้นที่ค่อนข้างเจาะจงสักหน่อย

Links ที่น่าสนใจ

องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO: World Intellectual Property Organization)

สำนักงานสิทธิบัตรสหรัฐอเมริกา (USPTO: United States Patent and Trademark Office)

สำนักงานสิทธิบัตรยุโรป (EPO: European Patent Office)

สำนักงานสิทธิบัตรประเทศญี่ปุ่น (JPO: Japan Patent Office)

สำนักงานสิทธิบัตรประเทศจีน (SIPO: State Intellectual Property Office of The P.R.C)

สำนักงานสิทธิบัตรประเทศออสเตรเลีย (IP Australia)

สำนักงานสิทธิบัตรประเทศเยอรมนี (DPMA: Das Deutsche Patent- und Markenamt)

สำนักงานสิทธิบัตรประเทศเกาหลี (KIPO: Korean Intellectual Property Office)

สำนักงานสิทธิบัตรประเทศอังกฤษ (IPO: Intellectual Property Office)

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประเทศไทย (DIP: Department of Intellectual Property)

Google Patents

——————————————————————————————————————————

อภิชัย อารยะเจริญชัย
หน่วยบริการสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ และหน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ฯ
ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

This entry was posted in บรรณารักษ์ชวนรู้ and tagged , , , , , , . Bookmark the permalink.

Leave a comment