อ่านเถิดจะเกิดผล: การอ่านหนังสือในโลกมืด

การอ่านหนังสือสักเล่มสำหรับคนปกติอย่างเราๆ ท่านๆ ก็เป็นเรื่องสามัญธรรมดา แต่สำหรับคนตาบอดแล้ว การอ่านหนังสือสักเล่มนับเป็นเรื่องหนักหนาเอาการ ต้องอาศัยความพยายาม ต้องใช้ประสาทสัมผัสที่พิเศษมากกว่าคนปกติอย่างมาก กว่าจะเข้าใจเนื้อหาในหนังสือที่คนทั่วไปมองปราดเดียวก็รู้เรื่อง

แต่ก่อนเก่านั้นหนังสือสำหรับคนตาบอดทำจากระดาษไข พิมพ์เป็นอักษรที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติและนูนขึ้นเพื่อให้สามารถสัมผัสรู้ได้ว่าเป็นอักษรใด ดังนั้นหนังสือปกติหนึ่งเล่มเมื่อถูกสร้างเป็นหนังสือสำหรับคนตาบอดแล้วจึงมีความหนามาก กว่าจะอ่านจบแต่ละบทก็กินเวลานาน และแสนลำบากเวลาเคลื่อนย้าย อีกทั้งการผลิตก็ยุ่งยาก จึงมีการผลิตน้อย ห้องสมุดหรือโรงเรียนสำหรับคนตาบอดเองก็ขาดแคลนหนังสือประเภทนี้

เด็กชายคนหนึ่งเกิดขึ้นในครอบครัวคนทำอานม้านอกกรุงปารีส โชคร้ายที่ที่เกิดอุบัติเหตุจนต้องเสียตาไปข้างหนึ่ง และเสียตาอีกข้างไปในเวลาต่อมา เด็กชายต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ เขาต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตในโลกมืดเพื่อมิให้เป็นภาระแก่ครอบครัว แต่ในสมัยนั้นก็นับเป็นเรื่องยากมากทีเดียว คนพิการส่วนมากจึงมักจะกลายเป็นขอทานในที่สุด

เป็นโชคดีของเด็กชายที่บาทหลวงประจำหมู่บ้านให้ความเอ็นดูคอยอ่านหนังสือให้เขาฟังเป็นประจำ และฝากฝังให้ได้เข้าเรียนในโรงเรียนเหมือนเด็กปกติแม้ว่าครูจะไม่ใคร่เต็มใจนัก แต่เด็กชายกลับฉลาดหลักแหลม ท่องโคลงได้มากมาย จำข้อความที่ครูสอนได้แม่นยำกว่าเพื่อนในชั้น ด้วยความเป็นเด็กที่ใฝ่รู้และสำนึกดีกว่าตนเองด้อยกว่าเพื่อนเพียงใด

ในปี ๑๗๘๔ ได้มีการก่อตั้งโรงเรียนสำหรับคนตาบอดเป็นแห่งแรกของกรุงปารีส (และอาจเป็นแห่งแรกของโลก) เด็กชายผู้โชคดีได้รับทุนเข้าศึกษาต่อ ที่นี่เขาได้รับการฝึกปรือด้านวิชาชีพต่างๆ เพื่อจะได้นำไปใช้หาเลี้ยงชีพ อย่างเช่นวิชาดนตรี เขาร่ำเรียนจนเชี่ยวชาญจนกลายเป็นนักออร์แกนมีชื่อของกรุงปารีส แต่สิ่งที่เขาปรารถนาที่สุดคือการได้อ่านหนังสือ ซึ่งเป็นเรื่องยากมากสำหรับในยุคนั้นที่หนังสือสำหรับคนตาบอดยังเป็นของหายากอยู่

เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี เด็กชายได้รับการสอนการอ่านสัญลักษณ์จากนายทหารท่านหนึ่งที่เห็นว่าอาจจะมีประโยชน์สำหรับคนตาบอด โดยสัญลักษณ์เหล่านี้ถูกใช้ในการทหารเพื่อให้อ่านคำสั่งได้แม้จะอยู่ในที่มืดและไม่จำเป็นต้องส่งเสียง แต่สัญลักษณ์แบบนี้เหมาะสำหรับข้อความสั้นๆ แต่จะยุ่งยากมากหากเป็นข้อความยาวๆ ซึ่งเด็กชายได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษ และพยายามดัดแปลงจนได้สัญลักษณ์แทนตัวอักษรที่สมบูรณ์เมื่อเขาอายุได้เพียง ๑๕ ปี

สัญลักษณ์ดังกล่าวกลายเป็นที่นิยมและถูกใช้อย่างแพร่หลายสำหรับโรงเรียนสอนคนตาบอดทั่วประเทศ และถูกประยุกต์ใช้สำหรับภาษาอื่นๆ ทั่วโลก แม้ว่าสัญลักษณ์อักษรชุดแรกจะประสบผลสำเร็จแต่เขาก็ยังพัฒนาเพื่อให้มันสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อให้คนตาบอดทั่วโลกสามารถอ่านหนังสือได้เหมือนคนปกติทั่วไป และสัญลักษณ์อักษรที่ว่านี้ก็ถูกเรียกขานตามชื่อของเขาว่า อักษรเบรลล์ เด็กชายคนนี้ชื่อว่า หลุยส์ เบรลล์  (Louis Braille, ๑๘๐๙-๑๘๕๒)

imagesเรียบเรียงจาก: ศุภาศิริ สุพรรณเภสัช. (๒๕๕๒). วันเยาว์ของคนใหญ่. กรุงเทพ : มติชน.

————————————————————————————————————————————
อภิชัย อารยะเจริญชัย
หน่วยบริการสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ และหน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ฯ
ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

This entry was posted in การอ่าน, อ่านเถิดจะเกิดผล and tagged , , , , , . Bookmark the permalink.

Leave a comment