ทางรอดของร้านหนังสือเล็กๆ: สัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแห่งชาติ

ถามหน่อยครับว่าเดี๋ยวนี้มีร้านหนังสือกี่แห่งให้เราไปเลือกซื้อกันบ้าง …

เปลี่ยนคำถามใหม่ก็ได้ครับ ถ้าเราจะไปซื้อข้าวของบริโภคอุปโภค เดี๋ยวนี้เราไปเดินซื้อกันที่ไหนบ้างครับ คำตอบของคนส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้นห้างสรรพสินค้าหรือโมเดิร์นเทรดต่างๆ ใช่ไหมครับ ร้านค้าเล็กๆ ประเภทโชห่วยนับวันก็จะเหลือน้อยเต็มที แม้ว่าจะพอมีลูกค้าขาประจำอยู่บ้าง แต่กับยุคปัจจุบันพวกเขาคงไม่มีทางยืนหยัดอยู่ได้ทั้งหมดแน่นอนครับ

กลับมาที่เรื่องของหนังสือกันอีกที ตกลงคิดคำตอบออกหรือยังครับว่าเราไปเลือกซื้อหนังสือกันที่ไหน ผมว่าคำตอบก็คงไม่ต่างกันกับคำถามข้างบน

ก็ไม่ได้ผิดอะไรนะครับ หากมองในแง่ของการส่งเสริมการอ่านที่พยายามกันอยู่ มันก็ช่วยได้ไม่เลวทีเดียวก็ในเมื่อผู้คนยุคนี้เลือกที่จะเดินห้างกันมากกว่า การมีร้านหนังสือในห้างก็ตอบโจทย์ดีนะครับ แต่ที่กำลังน่าเป็นห่วงคือร้านหนังสือเล็กๆ ต่างหาก แล้วก็ยังรวมไปถึงสำนักพิมพ์ด้วย เพราะเดี๋ยวนี้สำนักพิมพ์ก็มีหน้าร้านเป็นของตัวเองกันแล้ว ยิ่งสำนักพิมพ์ชื่อดัง ซึ่งก็มีอยู่ไม่ครบจำนวนนิ้วมือเสียด้วยซ้ำ

943117_583287521711972_1954346773_n(ภาพประกอบจาก เครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็ก)

“ทางเลือกของสำนักพิมพ์เล็กๆ มีอยู่สองทาง ทางที่หนึ่งคือเลิก เพราะไปก็ไปไม่รอด ทางที่สองก็เปลี่ยนเป็นสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ซะ ไปหาเงินทุนมาลงให้มันใหญ่ขึ้น” คุณเรืองเดช ชาติอนันต์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็ก ได้ให้ความเห็นไว้ ซึ่งอย่างที่เรารู้ๆ กันว่าส่วนมากแล้วคงจะหนีไม่พ้นทางเลือกแรก

1017480_485401831536598_1629826802_nเวลาถกเถียงกันเรื่องวัฒนธรรมการอ่านของคนไทย เรามักจะวนกันอยู่กับประเด็นที่ว่าคนไทยอ่านมากอ่านน้อยเท่าไหร่ คนไทยอ่านอะไร ปัญหาการเข้าถึงหนังสือ ความหลากหลายของหนังสือ ฯลฯ แต่ผมยังไม่เห็นทางแก้ที่เป็นรูปธรรมจากหน่วยงานใดๆ เลยซักที เลือกมาซักข้อทีเถิดครับ ที่เราเพิ่งโวยวายกันก็คือคนไทยอ่านหนังสือน้อย สงสัยไหมครับว่าเท่าไหร่คือน้อย เท่าไหร่คือมาก เรามักอ้างว่าประเทศเพื่อนบ้านเขาอ่านกันปีละ ๖๐-๗๐ เล่ม คนไทยอ่านปีละแค่ ๕ เล่ม นี่จะสู้กันที่ปริมาณใช่ไหมครับ ถ้ากลับมาย้อนว่าอ่านเท่าไหร่ไม่สำคัญเท่ากับว่าอ่านอะไร ก็นั่นน่ะสิครับ จะให้อ่านอะไร ผมเคยคุยกับพวกเด็กๆ นะครับ เขาเล่าว่าพอหยิบนิยายมาอ่านก็ถูกค่อนขอดว่าไม่มีสาระ อ้าว…แล้วอะไรถึงเรียกว่ามีสาระ อะไรคือเส้นแบ่งสาระกับไร้สาระ ถ้าถึงขั้นต้องบังคับให้อ่านเฉพาะที่มีสาระ เขาก็ไม่อ่านเสียดีกว่า

บางครั้งผมยังรู้สึกนะครับว่าเรากำลังถูกผูกขาดการอ่านหนังสือจากสำนักพิมพ์หรือร้านค้าอยู่หรือเปล่า

ส่วนตัวแล้วผมก็ไม่ได้แอนตี้อะไรกับร้านหนังสือบิ๊กๆ นะครับ ก็คบค้าสมาคมกันอยู่บ่อย มีหนังสือให้เลือกมากมายดี แต่มันอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าทำไมเราถึงมีหนังสือให้เลือกอ่านอยู่เท่านี้ หรือว่าคนเขียนเขาเขียนออกมาเท่านี้ คนพิมพ์เขาเลยพิมพ์ออกมาเท่านี้ มีงานเขียนดีๆ ซ่อนอยู่ที่ไหนอีกไหม เอ๊ะ…หรือว่ามันมีเท่านี้จริงๆ

หนังสือจากสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ เราก็สามารถซื้อได้จากร้านหนังสือเล็กๆ แต่หนังสือจากสำนักพิมพ์เล็กๆ ทำไมเรากลับหาไม่เจอในร้านใหญ่ๆ แปลกดีนะครับ

ไหนจะปัญหาเรื่องของร้านหนังสือที่มีไม่เพียงพอ ร้านหนังสือดังๆ ก็มักจะรวมกันอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ๆ ร้านเล็กทั้งหลายลำพังก็แทบจะยืนไม่อยู่ แต่ร้านใหญ่ก็ไม่เน้นตามเมืองเล็ก สรุปว่าไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ คนไทยก็ยังหาซื้อหนังสือยากอยู่ดี ไม่ต้องพูดกันถึงเรื่องหนังสือสาธารณะนะครับ เรื่องนี้ข้ามไปได้เลยกับประเทศนี้

Web
เอาล่ะ แล้วทางออกมีไหม ไม่ใช่ว่าไม่มีนะครับ แต่ผมก็ยังแปลกใจอยู่ที่ที่คนที่คิดจะแก้ไขหรือหาทางส่งเสริมการอ่านนั้นกลับเกิดขึ้นจากกลุ่มคนเล็กๆ จากร้านค้าเล็กๆ จากคนที่รักหนังสือจริงๆ (โดยปราศจากกลุ่มทุนใหญ่ๆ ซึ่งมีกำลังพอที่จะทำ แต่ไม่เห็นทำซักที) กลุ่มที่ว่านี้คือ เครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็ก ที่ออกไอเดียจัดงาน สัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแห่งชาติ ตามร้านหนังสืออิสระทุกภูมิภาค จำนวน ๑๕ แห่ง

งานนี้เขาจัดขึ้นเพื่ออะไร … แน่นอนว่านี่คือกิจกรรมส่งเสริมการอ่านครั้งใหญ่ นอกเหนือจากนั้นยังเป็นการประชาสัมพันธ์ร้านหนังสืออิสระประจำท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักกันกว้างขวางในระดับชุมชน ระดับภูมิภาคและระดับชาติ เป็นการร่วมมือกันของคนในวงการเพื่อร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ในการดำเนินกิจการที่พวกเขารัก เพราะร้านหนังสือคือหนึ่งในศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของชุมชนที่หลายคนมองข้าม ในส่วนของคนอ่านนี่ก็จะกลายเป็นช่องทางในการค้นหาและเข้าถึง ผลงานใหม่ๆ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่กับธุรกิจ

942458_239066729551605_1991520117_n-640x640
ร้านหนังสือจำนวน ๑๕ แห่งที่ร่วมกิจกรรมได้แก่
กาลครั้งหนึ่ง (อุทัยธานี), บูคู (ปัตตานี), ฟิลาเดลเฟีย (อุบลราชธานี), เฟื่องนคร (นครราชสีมา), มะลิ มะลิ (กรุงเทพฯ), ร้านเล่า (เชียงใหม่), ร้านหนังสือเดินทาง (กรุงเทพฯ), ริมขอบฟ้า (กรุงเทพฯ), สวนเงินมีมา (กรุงเทพฯ), สุนทรภู่ (ระยอง), หนัง (สือ) 2521 (ภูเก็ต), เอกาลิเต้ (ลำปาง), Bookmoby (กรุงเทพฯ), Book Re:public (เชียงใหม่) และ Booktopia (อุทัยธานี)

สัปดาห์ร้านหนังสืออิสระแห่งชาติ จะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ ๒๒-๒๙ มิถุนายน นี้ ผมเชื่อว่านี่จะเป็นแรงกระตุ้นและช่วยให้นักอ่านในท้องถิ่นหรือกระทั่งนักอ่านต่างถิ่น ค้นพบโอเอซิสทางปัญญาที่ไม่ต้องรอคอยสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ว่าจะเมตตาตีพิมพ์หนังสือดีๆ มาให้ได้อ่านกันหรือไม่ ร้านหนังสือขนาดเล็กเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของชุมชนที่ควรจะรักษาไว้ให้คงอยู่ครับ ผมเชื่อว่าพวกเขาทำด้วยใจรัก แค่ยืนหยัดอยู่ได้โดยไม่เจ๊งพวกเขาก็พอใจแล้วครับ ความสุขกับการได้ทำในสิ่งที่รัก ได้อ่านหนังสือที่ชอบ ได้เห็นนักอ่านแวะเวียนมาเลือกหนังสือก็ทำให้พวกเขาแช่มชื่นแล้วล่ะครับ

รายละเอียดของแต่ละร้านนั้นสามารถเข้าไปชมผ่านหน้า Fanpage ของแต่ละร้าน ที่ผมได้ทำ link ไว้ให้แล้ว ใกล้ที่ไหนก็ลองแวะไปครับ แล้วท่านจะได้รับความอิ่มเอมที่ต่างจากการเข้าร้านหนังสือใหญ่ๆ ตามห้างเสียอีก

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก เครือข่ายธุรกิจหนังสืออิสระขนาดเล็ก

————————————————————————————————————————————
อภิชัย อารยะเจริญชัย
หน่วยบริการสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ และหน่วยจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ฯ
ห้องสมุดสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

This entry was posted in การอ่าน and tagged , , , , , , . Bookmark the permalink.

Leave a comment