คทาคาดูซัส : สัญลักษณ์แห่งวิชาแพทย์

lib_knowledgeแรกเริ่มเดิมทีนั้น มหาวิทยาลัยมหิดล ถือกำเนิดในชื่อ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นงูพันคบเพลิง สื่อความหมายถึงวิชาแพทย์ แต่นักศึกษาทราบกันไหมว่าเหตุใดจึงใช้รูปงูพันคบเพลิงมาใช้เป็นเครื่องหมายถึงวิชาแพทย์

เรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าจากเทพปกรณัมของกรีกโบราณ อาจมีจุดที่ต่างกันบ้างแต่ยังคงใจความหลักที่คล้ายกัน คทานี้เป็นของ เอสคิวลาปิอุส (Aesculapius) เป็นบุตรของเทพ อพอลโล เอสคิวลาปิอุสมีความสามารถทางการแพทย์สูงส่ง อาจารย์ของเขาคือ ไครอน (ไครอน หรือ เซนทอร์ เป็นอมนุษย์ที่มีร่างกายส่วนบนเป็นมนุษย์แต่มีส่วนล่างเป็นม้า) ในเทพปกรณัม ไครอนมักมีบทบาทในการเป็นอาจารย์ให้กับทวยเทพหรือวีรบุรุษหลายต่อหลายคน

Rod-of-asclepius-caduceus-300x212

เอสคิวลาปิอุสร่ำเรียนวิชาแพทย์จากไครอนจนเชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นโรคร้ายแรงเพียงใดหรือบาดเจ็บสาหัสขนาดไหน เขาก็สามารถรักษาจนรอดทุกราย เขาเก่งกาจถึงขนาดสามารถรักษาคนใกล้ตายจนรอดชีวิต จนร่ำลือกันว่าต่อให้เป็นคนตายเขาก็ชุบชีวิตขึ้นมาได้ ทำให้มหาเทพเซอุสเกรงว่าความสามารถของเขาจะสร้างความโกลาหลให้กับยมโลก จึงจำเป็นต้องกำจัดเสีย

สำหรับคทาคาดูซัสของเขานั้นมีเรื่องเล่าแตกต่างกันสองกระแส บ้างก็ว่าครั้งหนึ่งขณะที่เขากำลังรักษาผู้ป่วยอยู่ เกิดมีงูพิษเลื้อยเข้ามา เขาจึงใช้ไม้เท้าฆ่างูตัวนั้นเสีย หลังจากรักษาผู้ป่วยเสร็จแล้วจึงชุบชีวิตงูตัวนั้นขึ้นมาใหม่ งูจึงเลื้อยพันอยู่กับไม้เท้าของเขาไม่ยอมจากไปไหน

อีกตำนานหนึ่งเล่าว่าไม้เท้านี้เป็นของอพอลโลมาแต่เดิม ต่อมาอพอลโลนำไปแลกกับพิณของเทพ เมอร์คิวรี่ (Mercury) อยู่มาวันหนึ่งเทพเมอร์คิวรี่เห็นงูสองตัวกำลังต่อสู้กัน จึงเอาไม้เท้าปักลงระหว่างกลางเพื่อสงบศึก ปรากฎว่างูทั้งสองเลื้อยขึ้นมาพันรอบไม้เท้านั้นและประดับอยู่อย่างนั้นเรื่อยมา จากตำนานนี้ไม้เท้านี้จึงมีความหมายถึงความเป็นกลาง การรอมชอม และสันติภาพ ส่วนการเพิ่มปีกประดับไว้ที่ปลายไม้เท้านั้นเข้าใจว่าถูกเพิ่มเติมขึ้นภายหลังเพื่อแสดงถึงเทพเมอร์คิวรี่ ซึ่งพระองค์มีสัญลักษณ์ประจำพระองค์เป็นปีกสองข้าง

สำหรับการใช้คทาที่มีงูสองตัวเป็นเครื่องหมายทางการแพทย์นั้น มีการตีความว่างูสองตัวหมายถึงการเยียวยารักษา (Healing) และสิ่งที่เป็นพิษหรืออันตราย (Poison) หรืออาจหมายถึง สุขภาพ (Health) และ การเจ็บป่วย (Illness) ซึ่งไม่ว่าจะแบบไหนต่างก็แสดงถึงวิชาแพทย์ทั้งสิ้น

ดังนั้นหากอิงจากสองตำนานนี้จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า ถ้าจะให้มีความหมายในเชิงวิชาแพทย์ก็น่าจะประดับด้วยงูเพียงตัวเดียว ส่วนคทาที่ประดับด้วยงูสองตัวน่าจะหมายถึงเทพเมอร์คิวรี่ แต่อาจมีการเข้าใจผิดและสับสนกันมาตั้งแต่สมัยก่อน จึงมีการใช้ปะปนกันเรื่อยมาและกลายเป็นที่เข้าใจในความหมายถึงวิชาแพทย์มาจนถึงทุกวันนี้

aesculapian_largeรูปสลัก Aesculapius สร้างจากหินอ่อน จัดแสดงที่ Vatican Museums
สังเกตที่ไม้เท้าจะมีงูเพียงตัวเดียว (ที่มาภาพ: http://wordsmith.org/words/aesculapian.html)

792px-Abraham_Bloemaert_-_Mercury,_Argus_and_Io_-_Google_Art_Projectภาพ Mercury, Argus and Io โดย Abraham Bloemaert ศิลปินชาวดัตช์ อายุราวปี 1592
สังเกตคทาของเทพเมอร์คิวรี่จะมีงูพันอยู่สองตัว (ภาพจาก wikipedia)

med_symb1องค์กรระดับนานาชาติ อาทิ องค์การอนามัยโลก, สมาคมแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา
หรือสมาคมแพทย์แห่งสหราชอาณาจักร ใช้งูเพียงตัวเดียว

med_symb2แต่ยังมีบางองค์กรที่เลือกใช้งูสองตัว และมีบางแห่งที่ปรับเปลี่ยนจากไม้เท้าเป็นคบเพลิง
แต่ยังคงความหมายถึงวิชาแพทย์ อาทิ สมาคมแพทย์คาธอลิก,
สมาคมแพทย์แห่งมาเลเซีย, สมาคมแพทย์แห่งอินเดีย และกระทรวงสาธารณสุข (ไทย)

—————————————————————————————————–
ข้อมูลจาก
1. อ.สายสุวรรณ. (2549). เทวดาฝรั่ง กรีก-โรมัน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์.
2. Kim Dennis-Bryan. (2008). Signs & Symbols. London ; New York : DK.
3. Keith Blayney. “The Caduceus vs the Staff of Asclepius.” [Online]. Available: http://drblayney.com/Asclepius.html

อ่านเพิ่มเติมได้จาก
– “Caduceus – Rod of Hermes.” [Online]. Available: http://www.crystalinks.com/caduceus.html
– “Caduceus vs. Aesculapius.” [Online]. Available: http://www.hsc.wvu.edu/som-alumni/About-Us/Symbols-and-Traditions/Caduceus-vs-Aesculapius

This entry was posted in บรรณารักษ์ชวนรู้ and tagged , , , , , . Bookmark the permalink.

Leave a comment